แนะนำหนังสือ"กฎหมายและข้อควรระวังของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล "

โดย พ.ต.กภ.ประพล อยู่ปาน
........................................................................................
วิชาชีพ VS อาชีพ ที่มีผลต่อผู้ประกอบวิชาชีพ
จำเป็นต้องมีจริยธรรม ขอแนะนำหนัสือกฎหมายและข้อควรระวังของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล
แต่งโดย: ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส
บทคัดย่อ: งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นงานที่ต้องทำร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่น ๆ ขณะเดียวกันทุกคนก็มีหน้าที่เฉพาะของตัวเองที่จะต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเป็นบทบาทที่จริยธรรมวิชาชีพและกฎหมายกำหนดไว้ การละเลยหน้าที่ของตนเองหรือการทำเกินกว่าหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและหากเกิดความเสียหายขึ้น โอกาสที่จะถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องตามกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และหรือตามกฎหมายวิชาชีพ ก็เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ การเรียนรู้และป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ตัวอย่างที่ยกมาอันจะเป็นประโยชน์ หากบุคลากรด้านสุขภาพเข้าใจบทบาทการประกอบวิชาชีพ
1. ความหมายของคำว่า “วิชาชีพ”
คำว่า วิชาชีพ ตรงกับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “Profession” มาจากกริยา “to profess” จากคำลาติน pro+fateri แปลว่ายอมรับหรือรับว่าเป็นของตน ศัพท์คำนี้เดิมใช้ในทางศาสนา เป็นการประกาศตนว่ามีศรัทธาในศาสนาหรือการปฏิญาณตน
พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงแปลทรัพย์ “Profession” ว่า “อาชีวปฏิญาณ” เพราะสภาพที่แท้จริงแห่งวิชาชีพคือการปฏิญาณตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมซึ่งมีวางไว้เป็นบรรทัดฐาน อาชีวปฏิญาณตนในขั้นต้นได้แก่ วิถีอาชีพของนักบวชซึ่งต้องเคร่งครัดในระเบียบวินัยที่บังคับไว้ และต่อมาก็ได้แก่นักกฎหมายและแพทย์รวมทั้งบุคลากรทางด้านการพยาบาลด้วย
2. ลักษณะของวิชาชีพ
โดยที่ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หรือ Profession มีที่มาแตกต่างจากการประกอบอาชีพโดยทั่วไป วิชาชีพจึงมีลักษณะเฉพาะดังนี้คือ
2.1 เป็นงานที่มีการอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เป็นงานที่มีเจตนารมณ์เพื่อรับใช้ประชาชน
2.2 การงานนั้นต้องได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นเวลานานมาหลายปี หมายความว่า ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพได้ต้องมีการศึกษาโดยเฉพาะในวิชานั้น ไม่ใช่การงานที่บุคคลทั่วไปทำได้โดยเพียงแต่ทดลองปฏิบัติ แต่ต้องมีการฝึกอบรมอย่างสมบูรณ์แบบในทางวิทยาศาสตร์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (prolonged formal scientific training) อีกทั้งเป็นการศึกษาอบรมทางความคิด (intellectual) ยิ่งกว่าการใช้มือ (manual) และแรงงาน ดังนั้นการผลิตแพทย์พยาบาลและนักกฎหมายที่ดี จึงมิใช้เรื่องที่จะกระทำได้โดยง่ายเช่นบางสาขาวิชา และหากผลิตไปไม่ดี จะเกิดอันตรายเป็นอย่างมาก
อนึ่ง โดยเหตุที่วิชาชีพทางกฎหมาย ทางการแพทย์และพยาบาลเป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งประชาชนทั่วไปมิอาจรู้และตรวจสอบได้โดยสามัญสำนึกหรืออาศัยความรู้ทั่วไป การประกอบวิชาชีพของนักกฎหมายก็ดี ของแพทย์ของพยาบาลก็ดี จึงต้องผูกติดอยู่กับจริยธรรมเป็นสำคัญเพราะลักษณะงานเป็นการใช้ความรู้ที่มีอำนาจเหนือบุคคลอื่นหากขาดเสียซึ่งจริยธรรมก็มีโอกาสที่จะใช้ความรู้นั้นไปในทางเอารัดเอาเปรียบประชาชนได้ การสอนจริยธรรมหรือหลักวิชาชีพที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เฉพาะศาสตร์นั้นๆ
2.3 มีชุมชนหรือหมู่คณะที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำนึกในจรรยาบรรณ และมีองค์กรที่สอดส่องดูแล โดยที่ลักษณะของวิชาชีพเป็นงานที่ใช้ความรู้อันมีลักษณะเฉพาะและต้องมีจริยธรรมดังกล่าวมาแล้ว การมีองค์กรคอยควบคุมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ขนบธรรมเนียมที่ดีของหมู่คณะคงอยู่ได้ เป็นการคุ้มครองประชาชนและรักษาเกียรติยศแห่งวิชาชีพในขณะเดียวกัน สำหรับองค์กรที่จะควบคุมนี้จะประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพเดียวกัน คือเป็นการควบคุมกันเอง เพราะบุคคลเหล่านี้จะรู้ลักษณะของงานและประโยชน์ของหมู่คณะตลอดจนผลกระทบถึงประชาชนดีกว่าผู้อื่น หากองค์กรวิชาชีพสามารถดูแลสมาชิกให้อยู่ในกรอบแห่งจริยธรรม ผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละคนจึงมิใช่จะกระทำการตามที่ตนต้องการได้ แต่ต้องคำนึงถึงภาพพจน์โดยรวมของผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ บทบาทขององค์กรวิชาชีพจึงมีบทบาทโดยตรงในการควบคุมมากกว่าการคุ้มครองส่งเสริมรักษาประโยชน์ของผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกันและบทบาทเช่นนี้ถือเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในทุกประเทศ จะแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ
........................................................................................